รู้เท่าทันเนื้องอกหลัง

พญ. วริสา วงศ์ภาณุวิชญ์ 
ประสาทศัลยแพทย์ สถาบันประสาทวิทยา

ลักษณะทางกายวิภาคของไขสันหลังมีความซับซ้อนและมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับสมอง ไขสันหลังและรากประสาทเป็นตัวเชื่อมและประสานการทำงานระหว่างสมองและเส้นประสาทเพื่อรับส่งสัญญาณไปที่อวัยวะต่างๆ ที่สำคัญ เช่น ระบบหัวใจและการไหลเวียนโลหิต ระบบการหายใจ การขับถ่าย และยังรวมไปถึงการควบคุมการเคลื่อนไหวและรับความรู้สึก รอยโรคที่มีผลกระทบต่อการทำงานของไขสันหลังจึงอาจทำให้ผู้ป่วยมีความผิดปกติทางระบบประสาทได้หลายอย่าง เช่น ปวด ชา อ่อนแรง ที่รบกวนการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน  ในกรณีที่รอยโรคมีขนาดใหญ่มากพอหรืออยู่ในตำแหน่งที่สำคัญอาจทำให้พิการหรือส่งผลรุนแรงจนมีโอกาสเสียชีวิตได้

เนื้องอกที่สันหลังอาจเป็นเนื้องอกที่เกิดจากเนื้อเยื่อบริเวณนี้เองหรือจากมะเร็งที่ลุกลามแพร่กระจายมาก็ได้  อาจเกิดที่กระดูก เม็ดเลือด ระบบประสาท หรือเนื้อเยื่ออื่นรอบๆ  ทำให้ผู้ป่วยมีอาการแตกต่างกัน  โดยทั่วไปเนื้องอกสันหลังที่เกิดจากเนื้อเยื่อบริเวณนี้เอง พบได้น้อยในผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 30 ปี และมักเป็นชนิดไม่ร้ายแรง อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกอาจแยกได้ยากจากผู้ป่วยที่มีอาการปวดจากโรคทางกระดูกสันหลังทั่วไป ซึ่งมักมีอาการมากขึ้นเมื่อใช้งานผิดท่าหรือใช้งานมากเกินไป โดยเฉพาะเนื้องอกที่ไม่ใช่เนื้อร้ายมักจะมีการโตอย่างช้าๆ อาจอยู่ในตำแหน่งที่ไม่สำคัญนัก ทำให้ผู้ป่วยหลายรายไม่มีอาการผิดปกติใดๆเลย แต่หากผู้ป่วยมีเนื้องอกที่เป็นเนื้อร้าย อยู่ในตำแหน่งที่สำคัญ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดมากขึ้นเรื่อยๆและมีอาการทางระบบประสาทได้หลากหลายในเวลาสั้นๆ  นอกจากนี้อาจพบอาการข้างเคียงที่เกิดร่วมได้ด้วย เช่น เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย คลื่นใส้ อาเจียน น้ำหนักลด  ทั้งนี้มะเร็งทุกชนิดสามารถลุกลามหรือแพร่กระจายมาที่กระดูกสันหลังได้และมีผลต่อความเสถียรของกระดูกและระบบประสาทได้ ที่พบได้บ่อย คือ มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ มะเร็งต่อมไทรอยด์ มะเร็งต่อมลูกหมาก

          อาการที่ต้องระวังเป็นพิเศษและแนะนำให้พบแพทย์ คือ อาการปวดหลังที่ไม่สัมพันธ์กับการใช้งานผิดท่าหรือใช้งานมากเกินไป อาการเป็นมากขึ้นเรื่อยๆจนรบกวนการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน  อาการไม่ดีขึ้นจากนอนพัก การกินยาและการกายบริหาร มีอาการนานเกิน 3 เดือนโดยเฉพาะเมื่อพบในผู้ป่วยที่อายุมากหรือมีประวัติการตรวจพบเนื้องอกบริเวณอื่นมาก่อน  และมีอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย เช่น ชา อ่อนแรง การขับถ่ายผิดปกติ

          การวินิจฉัยทำได้จากการซักประวัติและตรวจร่างกายเบื้องต้น หากมีสัญญาณว่าอาจเป็นเนื้องอกจะมีการส่งตรวจเพิ่มเติม ได้แก่ การเอกซเรย์กระดูกเบื้องต้น (Plain x-ray) เพื่อประเมินความเสียหายของกระดูก และความไม่เสถียรของแนวกระดูก การตรวจภาพถ่ายทางคอมพิวเตอร์ (CT) หรือคลื่นแม่เหล็ก (MRI) ตามระดับสันหลังที่สงสัยรอยโรคเพื่อยืนยันตำแหน่งสำหรับวางแผนการรักษาและพยากรณ์โรค  การส่งตรวจภาพเหล่านี้อาจมีสัญญาณบ่งชี้เนื้องอกบางขนิดได้ซึ่งส่งผลต่อการตรวจเพิ่มหรือวางแผนการรักษาต่อไป สำหรับผู้ป่วยที่มีประวัติตรวจพบมะเร็งมาก่อน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในระยะแพร่กระจายแล้ว อาจต้องมีการตรวจเพื่อประเมินอวัยวะอื่นๆร่วมด้วย

          การรักษาจะปรับเป้าหมายตามผู้ป่วยแต่ละราย  หากเป็นชนิดไม่ร้ายแรง โตช้า อยู่ในตำแหน่งไม่สำคัญ อาจไม่จำเป็นต้องผ่าตัด เพียงติดตามอาการและประเมินภาพสันหลังเป็นระยะเท่านั้น  แต่หากส่งผลถึงระบบประสาทแล้วแนะนำให้ผ่าตัดเพื่อลดอาการปวดและเพิ่มโอกาสฟื้นฟูกำลังด้วยการทำกายภาพบำบัด  ในกรณีที่เนื้องอกหรือการรักษาเนื้องอกบริเวณนั้นๆส่งผลถึงความเสถียรของแนวกระดูกอาจต้องมีการใส่สกรู โลหะ หรือวัสดุทดแทนกระดูกเดิมร่วมด้วย  ส่วนการส่งตรวจชิ้นเนื้อแนะนำให้ทำทุกรายเพื่อวินิจฉัยและประเมินความจำเป็นของการรักษาด้วยรังสีหรือเคมีบำบัดต่อไป  สำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ในระยะลุกลามหรือแพร่กระจายแล้ว อาจมีภาวะอื่นร่วมที่ทำให้จำกัดวิธีการรักษาได้มากกว่าปกติ  ทำให้ส่วนใหญ่จะได้รับการรักษาแบบประคับประคองเพื่อให้ผู้ป่วยยังมีคุณภาพชีวิตที่ดี เคลื่อนไหวได้ตามสมควรโดยไม่ปวดจนกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน  ทั้งนี้การผ่าตัดในผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังได้ประโยชน์แม้จะไม่สามารถรักษาเนื้องอกได้ทั้งหมด แต่ต้องประเมินร่างกายโดยรวมและการพยากรณ์โรคของผู้ป่วยให้ดี และผู้ป่วยต้องรับทราบข้อมูลเพื่อใช้ผลดีและผลเสียที่จะเกิดขี้นในการตัดสินใจเลือกวิธีรักษาร่วมกับทีมดูแลต่อไป

          เทคนิคการผ่าตัดในปัจจุบัน มีทั้งการเปิดแผลผ่าแบบดั้งเดิมตามมาตรฐาน การใช้กล้องกำลังขยายสูงเพื่อเพิ่มความละเอียดในการผ่าตัดและลดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อในระบบประสาท  การใช้ภาพถ่ายรังสีเพื่อช่วยนำวิถีหรือการใช้สัญญาณไฟช่วยเพิ่มความแม่นยำในระหว่างการผ่าตัด  ไปจนถึงการผ่าตัดแผลเล็กเพื่อช่วยให้เจ็บน้อย ลดอาการปวดจากเนื้องอก ฟื้นตัวหลังผ่าตัดได้เร็วขึ้น  โดยแพทย์จะเป็นผู้เลือกตามความเหมาะสมของผู้ป่วย  และความถนัดหรือความเชี่ยวชาญของศัลยแพทย์

          การผ่าตัดเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็งและสามารถตัดออกได้หมด จะมีโอกาสหายจากเนื้องอกได้สูงมากและมีอัตราการกลับเป็นซ้ำต่ำมาก  แต่พยากรณ์โรคจะขึ้นกับอาการเมื่อเริ่มรักษาของผู้ป่วยด้วย เช่น ในรายที่ระบบประสาทเสียหายน้อยอาจใช้เวลาไม่นานในการหายและใช้ชีวิตได้ปกติ  ในรายที่ระบบประสาทเสียหายมากอาจต้องใช้เวลานานในการทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูกำลังให้ดีขึ้น  ในรายที่รักษาเมื่อมีข้อยึดติดหรือกล้ามเนื้อฝ่อลีบไปมากแล้วอาจฟื้นกำลังได้น้อยและมีความพิการ  อย่างไรก็ตามในกรณีที่เนื้องอกอยู่ตำแหน่งที่สำคัญหรือมีความเสี่ยงสูงจะไม่สามารถตัดออกหมดได้เพื่อรักษาชีวิตหรือคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย  จะต้องใช้การรักษาด้วยรังสีหรือเคมีบำบัดเพื่อคุมการเติบโตหรือลุกลามของเนื้องอกต่อไป

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: