งานกายอุปกรณ์ กลุ่มงานเวชศาสตร์ฟื้นฟู สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ โทร. 02-306-9899 ต่อ 3173 เฝือกพยุงหลัง (Lumbosacral support) เป็นอุปกรณ์ช่วยเหลือที่ใช้คาดบริเวณบั้นเอวโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมอาการปวดหลังและเตือนให้จำกัดการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังระดับบั้นเอว (บริเวณหลังส่วนล่าง) หลักการทำงาน เพื่อช่วยในการกระชับกล้ามเนื้อด้านหน้าและด้านข้าง (Anterior and Lateral trunk containment) โดยเป็นการเพิ่มแรงดันในช่องท้องและส่งผลต่อการลดแรงกดทับที่กระทำต่อหมอนรองกระดูกและกระดูกสันหลังระดับบั้นเอวส่วนล่าง (Lumbosacral spine)และช่วยลดการทำงานของกล้ามเนื้อหลังส่วนเอว วิธีการใส่อุปกรณ์ 1. ผู้ป่วยพลิกตะแคงตัวไปด้านใดด้านหนึ่ง โดยพลิกให้ไหล่และสะโพกไปพร้อมกัน และอาจงอเข่าเพื่อให้ง่ายต่อการพลิกตัว 2. นำอุปกรณ์พยุงหลังเข้าไปวางด้านหลังลำตัวผู้ป่วยโดยให้ขอบล่างของอุปกรณ์อยู่บริเวณก้นกบ และแนวแกนโลหะอยู่ขนาบข้างแนวกระดูกสันหลัง และสอดปลายอุปกรณ์ไว้ข้างลำตัว 3. พลิกตะแคงตัวมาด้านตรงข้าม ดึงปลายและจัดอุปกรณ์พยุงหลังให้อยู่ในตำแหน่งเหมาะสม 4. พลิกตัวกลับมาในท่านอนหงาย แขม่วท้องแล้วติดแถบรัดของอุปกรณ์ทางด้านหน้าให้กระชับ วิธีการถอดอุปกรณ์ 1. ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงาย ดึงแถบรัดของอุปกรณ์พยุงหลังออกจากกัน 2. ผู้ป่วยพลิกตะแคงตัวไปด้านใดด้านหนึ่ง โดยพลิกให้ไหล่และสะโพกไปพร้อมกัน นำอุปกรณ์พยุงหลังออกจากตัวผู้ป่วย ข้อแนะนำการใช้ 1. แผ่นโลหะตามด้านหลัง ควรได้รับการดัดให้เข้ากับแนวความโค้งของกระดูกสันหลัง 2. ควรดึงสายรัดให้แน่นกระชับพอดี ไม่หลวมหรือแน่นจนเกินไปเพราะจะไม่ได้ประสิทธิภาพ 3. ควรใส่เฉพาะเวลาลุกนั่งContinue reading “การใช้อุปกรณ์เฝือกพยุงหลัง”
Category Archives: ข่าวสารสุขภาพ
การใช้อุปกรณ์เฝือกพยุงคอ
งานกายอุปกรณ์ กลุ่มงานเวชศาสตร์ฟื้นฟู สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ โทร. 02-306-9899 ต่อ 3173 เฝือกพยุงคอ เป็นกายอุปกรณ์เสริมที่ใช้คาดบริเวณลำคอ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมกล้ามเนื้อและจำกัดการเคลื่อนไหวของกระดูกช่วงคอ เหมาะกับ ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อบริเวณคอ และ ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทที่ไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณคอได้ หลักการทำงาน เพื่อประคองและป้องกันช่วงลำคอให้มีการเคลื่อนไหวที่น้อยลง ช่วยเตือนผู้ใส่ไม่ให้เกิดการเคลื่อนไหว โดยการป้อนกลับของประสาทสัมผัส (sensory feedback) ช่วยรองรับและพยุงน้ำหนักของส่วนศีรษะแทนส่วนลำคอและกระดูกคอ การทำความสะอาด ควรซักทำความสะอาดด้วยน้ำสบู่หรือผงซักฟอก ล้างด้วยน้ำสะอาดและนำไปตากในที่ร่มให้แห้งสนิท ไม่ควรใส่ทั้งที่อุปกรณ์ยังเปียกหรือชื้นอยู่ เพราะจะให้เกิดการสะสมของแบคทีเรียได้ 1. เฝือกพยุงคอชนิดอ่อน (Soft Collar) ใช้เป็นเครื่องเตือนและประคอง เพื่อลดการเคลื่อนที่ของส่วนคอให้น้อยลง มีส่วนช่วยในการลดการเกร็งและบรรเทาอาการปวดต้นคอเพื่อเลี่ยงอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อที่ไม่ใช่กระดูก วิธีการใส่อุปกรณ์ นำเฝือกทาบที่ลำคอโดยให้ตีนตุ๊กแกอยู่ด้านหลัง และส่วนที่เว้าทาบด้านหน้าเพื่อรองรับคาง จัดเฝือกให้กระชับลำคอและติดตีนตุ๊กแกให้กระชับ 2. เฝือกคอฟิลาเดเฟีย (Philadelphia Collar) ใช้เพื่อจำกัดและป้องกันการเคลื่อนที่ของส่วนคอ เหมาะสำหรับผู้มีปัญหาในส่วนของกระดูกคอเช่น อาการปวดหรือบาดเจ็บที่เกิดจากภาวะกระดูกส่วนคอเสื่อม กระดูกส่วนคอเคลื่อน เป็นต้น วิธีการใส่อุปกรณ์ 1. นำเฝือกชิ้นส่วนหลังทาบที่ลำคอด้านหลังให้พอดี 2. นำชิ้นส่วนหน้า(ชิ้นที่มีรู)มาทาบรองรับส่วนคาง โดยให้คางวางอยู่บนร่องภายในตัวเฝือกชิ้นหน้า 3. ประกบชิ้นหน้าทับชิ้นหลังContinue reading “การใช้อุปกรณ์เฝือกพยุงคอ”
อาการปวดคอเรื้อรัง
(Chronic Neck Pain) งานกายภาพบำบัด กลุ่มงานเวชศาสตร์ฟื้นฟู สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ อาการปวดคอเรื้อรัง อาการปวดคอเรื้อรัง หมายถึง อาการปวดคอต่อเนื่อง หรือเป็นๆหายๆมากกว่า 3 เดือน บางรายอาจมีอาการปวดร้าวไปศีรษะ หรือปวดร้าวไปบ่า ไหล่ มือข้างใดข้างหนึ่ง สาเหตุของการปวดคอ 1.กล้ามเนื้อคอหดเกร็งจากท่าทางในกิจวัตรประจำวันที่ผิด หรืออยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานเกินไป หรือจากภาวะความเครียดทางจิตใจ2.กล้ามเนื้อคอเคล็ดหรือยอกเฉียบพลัน จากการใช้งานมากเกินไป หรือการเคลื่อนไหวแบบเร็ว หรือรุนแรงเกินไป3.ภาวะกระดูกคอเสื่อม โดยอาจเป็นความเสื่อมตามอายุหรือจากการใช้งาน4.หมอนรองกระดูกคอเคลื่อน จากการบาดเจ็บหรือความเสื่อมของหมอนรองกระดูก ทำให้มีการยุบตัวและเคลื่อนที่5.การบาดเจ็บของกระดูกคอ กระดูกคอหักหรือเคลื่อนจากอุบัติเหตุที่รุนแรง เช่น ตกจากที่สูง อุบัติเหตุจากยานพาหนะ6.สาเหตุอื่นๆ เช่น เนื้องอกการติดเชื้อ เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุ และวางแผนการรักษาให้ถูกต้องและเหมาะสม การออกกำลังกายสำหรับผู้ที่มีอาการปวดคอ ประกอบด้วย1.การออกกำลังกล้ามเนื้อคอ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและความทนทาน2.การออกกำลังแบบยืดเหยียด เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น และลดอาการปวดเกร็ง3.การออกกำลังแบบแอโรบิกเพื่อสร้างความแข็งแรงพื้นฐาน เช่น เดิน ว่ายน้ำ โยคะ ตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล 1.ท่าบริหารเพื่อเพิ่มความแข็งแรง บริหารกล้ามเนื้อคอและกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของคอ ทุกท่าให้เกร็งกล้ามเนื้อค้างไว้ นับ 1-3 แล้วคลายออก ทำ 10คร้ังContinue reading “อาการปวดคอเรื้อรัง”
กลุ่มอาการเส้นประสาทข้อมือถูกกดทับ (Carpal Tunnel Syndrome)
ลักษณะทางกายวิภาคของข้อมือจะมีเส้นประสาทมีเดียน (Median nerve) วางตัวคู่กับเอ็นนิ้วมือซึ่งมีปลอกน้ำหุ้มรอบเอ็น ทั้งเส้นประสาทและเอ็นนี้จะลอดผ่านช่องเพื่อเข้าสู่อุ้งฝ่ามือ เรียกช่องนี้ว่า carpal tunnel ช่องนี้เกิดจากกระดูกและแผ่นเนื้อเยื่อบางๆแต่มีความแข็งแรงที่ขึงระหว่างกระดูกข้อมือ (ดังรูปที่ 1) เมื่อแผ่นเนื้อเยื่อนี้หนาขึ้นจนทำให้ช่องลอดแคบลงหรือเมื่อโครงสร้างในช่องลอดขยายขึ้นจะเกิดแรงดันภายในช่องนี้มากขึ้นจนมีการกดเบียดเส้นประสาทและเส้นเลือดที่มาเลี้ยงเส้นประสาท ทำให้เกิดกลุ่มอาการของเส้นประสาทข้อมือถูกกดทับ หากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้รบกวนชีวิตประจำวัน และหากยังปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจทำให้เส้นประสาทเสียหายถาวรได้ รูปที่ 1 แสดงภาพโครงสร้างและกายวิภาคของข้อมือ สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง เป็นโรคที่พบได้บ่อยในวัยกลางคน โดยทั่วไปมักพบว่าเพศหญิงเป็นโรคนี้ได้มากกว่าเพศชาย 3 เท่า นอกจากนี้ยังพบได้ในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหรือเหตุอื่นๆที่ทำให้ช่องลอดนี้แคบลงหรือทำให้โครงสร้างในช่องลอดขยายขึ้นจนเกิดแรงดันภายในช่องมากขึ้น เช่น ระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง (ภาวะไทรอยด์ต่ำ วัยหมดระดู การใช้ยาคุมกำเนิด) รูมาตอยด์ เบาหวาน ภาวะอ้วนมากๆ การบาดเจ็บของข้อมือและมีกระดูกงอก การสูบบุหรี่จัด (ทำให้การไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงเส้นประสาทบริเวณฝ่ามือลดลง) อาจพบได้มากขึ้นในหญิงตั้งครรภ์ช่วงที่เนื้อเยื่อมีการบวมขึ้น ซึ่งอาการจะหายไปหลังคลอด มักพบร่วมกับโรคนิ้วล็อค (Trigger finger) เนื่องจากเป็นภาวะที่เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงลักษณะเดียวกัน จากการวิจัยทั้งในและต่างประเทศพบว่า ผู้ที่มีความเสี่ยงคือผู้ใช้งานข้อมือเป็นจุดหมุนในท่าเดิมๆซ้ำๆเป็นเวลานาน เช่น กวาดบ้าน รีดผ้า เย็บผ้า ซักผ้า บิดผ้า ทำครัวหรือหิ้วถุงในท่างอข้อมือ จับพวงมาลัยขณะขับรถ การสั่นกระแทกจากด้ามจับของเครื่องมือทำงานก่อสร้าง เป็นต้น ในปัจจุบันคนส่วนใหญ่ใช้เวลาไปกับการทำงาน การเล่นเกมหรือใช้สื่อในคอมพิวเตอร์และในโทรศัพท์ โดยไม่ได้ใส่ใจสุขภาพทำให้ข้อมืออยู่ในท่างอหรือเหยียดมากเกินขอบเขตปกติซ้ำกันเป็นเวลานานContinue reading “กลุ่มอาการเส้นประสาทข้อมือถูกกดทับ (Carpal Tunnel Syndrome)”
เนื้องอกสมอง วินิจฉัยทันรักษาได้
เนื้องอกในสมอง เป็นโรคที่พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเอง แต่บางรายพบความผิดปกติจากพันธุกรรม โดยพบเนื้องอกที่เป็นเนื้อธรรมดาได้บ่อยกว่าเนื้องอกที่เป็นเซลล์มะเร็ง ซึ่ง นพ.ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า เนื้องอกในสมอง คือ เนื้อที่เกิดจากการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติของเซลล์ในสมองหรือบริเวณเนื้อเยื่อและต่อมต่างๆ บริเวณใกล้เคียงกับสมอง ไปรบกวนระบบประสาทและการทำงานของสมอง ทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน มีปัญหาด้านพฤติกรรม บุคลิกภาพ การพูด การได้ยิน การมองเห็น ความจำ และอาจเกิดอาการชัก เป็นอัมพาตครึ่งซีก ซึ่งเนื้องอกในสมองมี 4 ระดับ โดยวัดตามลำดับการเจริญเติบโตของเนื้องอก และโอกาสในการกลับมาเป็นอีกแม้ได้รับการรักษาแล้ว แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ 1.เนื้องอกที่ เป็นเนื้อธรรมดา เป็นเนื้องอกที่มีการเจริญเติบโตช้า ไม่ใช่เซลล์มะเร็ง สามารถรักษาให้หายหรือมีขนาดเล็กลงได้ และมีโอกาสน้อยที่ผู้ป่วยจะกลับมาเป็นอีกหลังการรักษา 2.เนื้องอกที่เป็นเนื้อร้าย เป็นเนื้องอกอันตราย มีการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติ คือ เซลล์มะเร็ง อาจเกิดบริเวณสมอง หรือเกิดขึ้นที่อวัยวะอื่นแล้วลามเข้าสู่สมอง เนื้องอกที่เป็นเซลล์มะเร็งจะมีการเจริญเติบโตเรื่อยๆ ไม่สามารถควบคุมได้ และมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นได้อีก นพ.เอกพจน์ จิตพันธ์Continue reading “เนื้องอกสมอง วินิจฉัยทันรักษาได้”
การผ่าตัดใส่สกรูยึดกระดูกสันหลังแบบเปิดแผลเล็ก (Minimally Invasive Spinal Fixation)
โรคที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดใส่สกรูยึดกระดูกสันหลัง ส่วนใหญ่ได้แก่โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน (Spondylolisthesis) กระดูกสันหลังคด (Scoliosis) หรืออุบัติเหตุกระดูกสันหลังแตกหรือยุบ โดยโรคที่พบบ่อยที่สุดคือ โรคกระดูกสันหลังเคลื่อนที่ระดับเอว เป็นโรคที่มีการเลื่อนไถลของกระดูกสันหลังชิ้นบน เลื่อนในแนวระนาบ บนกระดูกสันหลังชิ้นล่าง (รูปที่ ๑) ทำให้กระดูกสันหลังชิ้นบนกดเบียดเส้นประสาท ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังร้าวลงต้นขา น่องหรือเท้า ตามการทำงานของ เส้นประสาทเส้นนั้น บางรายอาจปวดมากจนเดินไม่ได้หรือไม่สามารถขับถ่ายได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มาพบแพทย์มักจะมีอาการปวดหลังมากกว่าอาการปวดร้าวลงขาหรือน่อง นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยบางส่วนที่ไม่ได้มีอาการจากเส้นประสาทถูกกดเบียด แต่มีอาการจากภาวะช่องโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ โดยจะมีอาการชาที่ต้นขา น่อง หรือเท้า หรือรู้สึกขาอ่อนกำลัง ผู้ป่วยจะมีอาการในขณะที่ยืนนานๆ หรือเดินสักพักจะก้าวขาไม่ออก แต่เมื่อนั่งพักไม่กี่นาทีก็ดีขึ้นและเดินต่อได้ โรคกระดูกสันหลังเคลื่อนสามารถรักษาได้โดยการผ่าตัดใส่โลหะ หรือสกรูยึดตรึงกระดูกสันหลัง การผ่าตัดมาตรฐานที่ใช้ดั้งเดิมเป็นการผ่าตัดเปิดแผลยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร (รูปที่ ๒) ในแนวกลางหลังระดับเอว ขณะผ่าตัดต้องเลาะถ่างกล้ามเนื้อออกจากแนวกลางข้างละประมาณ 5-6 เซนติเมตร เพื่อที่จะสามารถใส่สกรูได้ในตำแหน่งที่ต้องการ จากนั้นจึงทำการตัดกระดูกที่กดเส้นประสาทออก จะเห็นได้ว่าการผ่าตัดดังกล่าว กล้ามเนื้อหลังจะได้รับความบอบช้ำจากการผ่าตัดเป็นอย่างมาก เสียเลือดจากการผ่าตัดจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดแผลผ่าตัดมาก ใช้เวลาในการพักฟื้นหลายวันหรืออาจเป็นสัปดาห์ จึงจะสามารถลุกยืนหรือเดินได้ และอาจมีภาวะแทรกซ้อนมากกว่า เช่น แผลติดเชื้อ ซีดจากการเสียเลือดมาก การเสื่อมของกระดูกข้อถัดไป เป็นต้น ในปัจจุบัน การผ่าตัดกระดูกสันหลังเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลัง ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเปิดแผลผ่าตัดใหญ่เหมือนในอดีต สามารถเปิดแผลเล็กแล้วผ่าตัดผ่านกล้องจุลทรรศน์ (Microscope) เพื่อตัดเอาชิ้นส่วนของหมอนรองกระดูกที่กดทับเส้นประสาทออก หรือผ่าตัดใส่สกรูยึดกระดูกสันหลังแบบเปิดแผลเล็ก อาการของผู้ป่วยก็หายได้โดยที่ผลการรักษาไม่แตกต่างกับวิธีผ่าตัดเปิดแผลใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวหลังการผ่าตัดได้เร็วขึ้นมาก และเจ็บแผลผ่าตัดเพียงเล็กน้อย ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถลุกเดินได้ในวันรุ่งขึ้นหลังการผ่าตัด แต่วิธีนี้ศัลยแพทย์ต้องมีความชำนาญในการผ่าตัดใส่สกรูยึดกระดูกสันหลังแบบดั้งเดิมร่วมกับสามารถผ่าตัดผ่านกล้องจุลทรรศน์ได้ วิธีการที่แตกต่างกันคือ แพทย์จะลงแผลผ่าตัดที่หลังห่างแนวกลางไปทางด้านข้างทั้ง 2 ข้าง แผลยาวประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร (รูปที่ ๓) แผลลงในตำแหน่งที่จะใส่สกรู จากนั้นจะถ่างกล้ามเนื้อหลังออกเพียง 2.5 เซนติเมตร ด้วยเครื่องมือพิเศษ เพื่อที่จะทำการใส่สกรู (รูปที่ ๔) โดยใช้ภาพถ่ายเอ็กซเรย์ (X-ray) ช่วยในการบอกตำแหน่งและทิศทางในการผ่าตัดใส่สกรู (รูปที่ ๕) หลังจากการใส่สกรูยึดกระดูกสันหลังแล้วแพทย์จะทำการตัดส่วนของกระดูกและหมอนรองกระดูกสันหลังที่กดทับเส้นประสาท ด้วยการผ่าตัดมองผ่านกล้องจุลทรรศน์ (Microscope) เมื่อเทียบขนาดของความยาวแผล และขนาดของกล้ามเนื้อที่ต้องเลาะถ่างออก จะเห็นได้ว่าการผ่าตัดวิธีเปิดแผลเล็กเพื่อใส่สกรู กล้ามเนื้อได้รับความบอบช้ำจากการผ่าตัดน้อยมาก จึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บแผลผ่าตัดน้อย ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวหลังการผ่าตัดได้เร็วขึ้นมาก ผู้ป่วยเกือบทุกรายสามารถลุกขึ้นยืนหรือเดินได้ในวันรุ่งขึ้นหลังการผ่าตัด และสามารถกลับออกจากโรงพยาบาลได้ในเวลาภายใน 2-3 วันหลังการผ่าตัด กล่าวโดยสรุป ข้อดีของการผ่าตัดใส่สกรูแบบแผลเล็ก ผลการรักษาเทียบเท่าการผ่าตัดแบบมาตรฐานดั้งเดิมแต่ภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า กล้ามเนื้อบอบช้ำน้อยกว่า กล้ามเนื้อถูกเลาะถ่างน้อยกว่า ทำให้ปวดแผลน้อยกว่า ใช้เวลาพักฟื้นน้อยกว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถลุกเดินได้ในวันรุ่งขึ้น เสียเลือดจากการผ่าตัดน้อย แม้จะผ่าตัดในคนอ้วนมาก ข้อจำกัดของการผ่าตัดใส่สกรูแบบแผลเล็ก การมองตำแหน่งทางกายภาพและพยาธิสภาพของโรคทำได้ยาก เพื่อความปลอดภัยจึงต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ (microscope) ในการผ่าตัดลดการกดทับเส้นประสาท หรือผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลัง แต่ต้องอาศัยแพทย์ที่เชี่ยวชาญในการใช้กล้อง microscope ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุนรุนแรง ไม่สามารถผ่าตัดผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกสันหลังคดผิดรูปรุนแรงหรือผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนมากๆ
การผ่าตัดหมอนรองกระดูกคอกดทับเส้นประสาทหรือไขสันหลัง โดยการผ่าตัดจากทางด้านหน้าและเชื่อมข้อ (Anterior Cervical Diskectomy and Fusion; ACDF)
การผ่าตัดเพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดคอร้าวลงแขนหรืออ่อนแรงแขนขา จากการที่หมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอกดทับเส้นประสาทหรือไขสันหลังมีอยู่หลายวิธี โดยหนึ่งในวิธีมาตรฐานที่ให้ผลการรักษาดี คือการผ่าตัดเอาหมอนรองกระดูกส่วนคอที่มีการเสื่อมมากหรือแตกออกไปจากทางด้านหน้า (Anterior cervical diskectomy) และเชื่อมข้อที่มีปัญหานั้น(Fusion) เพื่อไม่ให้มีการเคลื่อนไหวจนเกิดปัญหาซ้ำอีก เรียกการผ่าตัดนี้ว่า ACDF การวินิจฉัยโรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอกดทับรากประสาท (ภาพที่ 3 ด้านซ้าย) หรือไขสันหลัง (ภาพที่ 3ด้านขวา) อาศัยการตรวจร่างกายที่แม่นยำ และการใช้ภาพรังสี (การถ่ายภาพรังสีเอ็กซ์และ/หรือ MRI) มาประกอบกัน โดยต้องแยกจากโรคที่พบบ่อยกว่าและมักถูกวินิจฉัยสับสนกันอยู่เสมอ เช่น โรคกล้ามเนื้อตึงหรืออักเสบเรื้อรังบริเวณสะบักหรือกล้ามเนื้อคอและบ่า (Myofascial pain syndrome) ซึ่งมีอาการปวดคอร้าวลงแขน แขนชา คล้ายกันได้ โรคพังผืดรัดเส้นประสาทที่ข้อมือทำให้มือชา (Carpal Tunnel Syndrome) รวมถึงเอ็นไหล่อักเสบที่ทำให้ปวดไหล่ร้าวลงแขนและอ่อนแรงได้ เป็นต้น ในรายที่มีความเสื่อมของกระดูกคอมากๆอาจเห็นกระดูกคอรูปร่างผิดปกติ หรือมีช่องหมอนรองกระดูกแคบ (ภาพที่ 2) ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ประสาทศัลยแพทย์จะต้องตรวจผู้ป่วยอย่างละเอียดและแยกโรคต่างๆเหล่านี้ออกไป ก่อนการตัดสินใจผ่าตัดที่กระดูกสันหลังส่วนคอ เพื่อให้การผ่าตัดประสบผลสำเร็จ การรักษา ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอกดทับเส้นประสาท (cervical spondylotic radiculopathy, CSR) หากไม่ประสบความสำเร็จจากการรักษาแบบไม่ผ่าตัดทุกวิธีแล้ว (การใช้ยา ปรับพฤติกรรม และการกายภาพ) เป็นเวลามากกว่า 6-8 สัปดาห์ ถือว่ามีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด ซึ่งหากการวินิจฉัยถูกต้องและเลือกวิธีการผ่าตัดเหมาะสม โอกาสประสบความสำเร็จจากการผ่าตัด ACDF มีสูงมาก โดยเฉพาะการลดปวดแขน (90%) และปวดคอ (70-80%) อย่างไรก็ตาม อาการอ่อนแรงและอาการชาต้องใช้เวลาให้ร่างกายค่อยๆฟื้นตัวร่วมกับการกินยาและกายภาพหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือนหลังผ่าตัด และในผู้ป่วยบางรายที่รากประสาทถูกกดรุนแรงจนมีการเสียหายถาวรตั้งแต่ก่อนผ่าตัดแล้ว อาจได้ผลลดปวดไม่ดีอย่างที่ควรจะได้รับ สำหรับผู้ป่วยโรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอกดทับไขสันหลัง (cervical spondylotic myelopathy, CSM) อาจมีอาการอื่นนอกจากปวดคอร้าวลงแขนหรือชาแขนได้ ในผู้ป่วยรายที่รู้สึกอ่อนแรงไม่มาก อาจมีปัญหาเสียการทรงตัวและเดินลำบาก หยิบจับของไม่ถนัดหรือกำของได้ไม่แน่น การขับถ่ายผิดปกติโดยมักมีการกลั้นอุจจาระปัสสาวะไว้ไม่อยู่ ในกรณีที่ถูกกดทับมากๆมักมีอาการแขนขาอ่อนแรง ซึ่งถ้าปล่อยไว้นานๆอาจมีกล้ามเนื้อฝ่อได้ โดยทั่วไปจึงมักแนะนำให้ผ่าตัด หรือใช้เวลารักษาแบบไม่ผ่าตัดในระยะสั้นเท่านั้น หากไม่มีข้อจำกัดทางสุขภาพด้านอื่นๆ การผ่าตัด ACDF ทำโดยการเอาหมอนรองกระดูกที่เป็นปัญหาออก เพื่อแก้ไขการกดทับ หลังจากนั้นประสาทศัลยแพทย์จะเสริมช่องว่างที่เกิดขึ้นโดยใช้ชิ้นกระดูกที่ได้มาจากการตัดกระดูกบริเวณเชิงกรานของผู้ป่วย หรือใช้วัสดุค้ำแทนที่หมอนรองกระดูก เพื่อเชื่อมกระดูกชิ้นบนและล่างให้กลายเป็นกระดูกชิ้นเดียวกันในที่สุด ในกรณีที่มีปัญหาหลายระดับและจำเป็นต้องผ่าตัดมากกว่า 1-2 ช่อง จะมีการยึดบริเวณด้านหน้ากระดูกสันหลังด้วยแผ่นโลหะและสกรู (Cervical plate and screw) เพื่อป้องกันไม่ให้วัสดุที่ใส่ไว้แต่ละช่องเกิดการเลื่อนหลุดออกมาหลังการผ่าตัดวัสดุที่ใส่ไว้ในแต่ละระดับนั้นจะใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 2-3 เดือนเพื่อเชื่อมต่อเป็นข้อเดียวกันหลังการผ่าตัด ซึ่งเมื่อกระดูกเชื่อมต่อกันสนิทแล้วจึงจะถือว่าการผ่าตัดครั้งนี้หายอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากการตัดชิ้นกระดูกจากเชิงกราน (IliacContinue reading “การผ่าตัดหมอนรองกระดูกคอกดทับเส้นประสาทหรือไขสันหลัง โดยการผ่าตัดจากทางด้านหน้าและเชื่อมข้อ (Anterior Cervical Diskectomy and Fusion; ACDF)”