

โรคที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดใส่สกรูยึดกระดูกสันหลัง ส่วนใหญ่ได้แก่โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน (Spondylolisthesis) กระดูกสันหลังคด (Scoliosis) หรืออุบัติเหตุกระดูกสันหลังแตกหรือยุบ โดยโรคที่พบบ่อยที่สุดคือ โรคกระดูกสันหลังเคลื่อนที่ระดับเอว เป็นโรคที่มีการเลื่อนไถลของกระดูกสันหลังชิ้นบน เลื่อนในแนวระนาบ บนกระดูกสันหลังชิ้นล่าง (รูปที่ ๑) ทำให้กระดูกสันหลังชิ้นบนกดเบียดเส้นประสาท ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังร้าวลงต้นขา น่องหรือเท้า ตามการทำงานของ เส้นประสาทเส้นนั้น บางรายอาจปวดมากจนเดินไม่ได้หรือไม่สามารถขับถ่ายได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มาพบแพทย์มักจะมีอาการปวดหลังมากกว่าอาการปวดร้าวลงขาหรือน่อง นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยบางส่วนที่ไม่ได้มีอาการจากเส้นประสาทถูกกดเบียด แต่มีอาการจากภาวะช่องโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ โดยจะมีอาการชาที่ต้นขา น่อง หรือเท้า หรือรู้สึกขาอ่อนกำลัง ผู้ป่วยจะมีอาการในขณะที่ยืนนานๆ หรือเดินสักพักจะก้าวขาไม่ออก แต่เมื่อนั่งพักไม่กี่นาทีก็ดีขึ้นและเดินต่อได้

โรคกระดูกสันหลังเคลื่อนสามารถรักษาได้โดยการผ่าตัดใส่โลหะ หรือสกรูยึดตรึงกระดูกสันหลัง การผ่าตัดมาตรฐานที่ใช้ดั้งเดิมเป็นการผ่าตัดเปิดแผลยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร (รูปที่ ๒) ในแนวกลางหลังระดับเอว ขณะผ่าตัดต้องเลาะถ่างกล้ามเนื้อออกจากแนวกลางข้างละประมาณ 5-6 เซนติเมตร เพื่อที่จะสามารถใส่สกรูได้ในตำแหน่งที่ต้องการ จากนั้นจึงทำการตัดกระดูกที่กดเส้นประสาทออก จะเห็นได้ว่าการผ่าตัดดังกล่าว กล้ามเนื้อหลังจะได้รับความบอบช้ำจากการผ่าตัดเป็นอย่างมาก เสียเลือดจากการผ่าตัดจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดแผลผ่าตัดมาก ใช้เวลาในการพักฟื้นหลายวันหรืออาจเป็นสัปดาห์ จึงจะสามารถลุกยืนหรือเดินได้ และอาจมีภาวะแทรกซ้อนมากกว่า เช่น แผลติดเชื้อ ซีดจากการเสียเลือดมาก การเสื่อมของกระดูกข้อถัดไป เป็นต้น

ในปัจจุบัน การผ่าตัดกระดูกสันหลังเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลัง ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเปิดแผลผ่าตัดใหญ่เหมือนในอดีต สามารถเปิดแผลเล็กแล้วผ่าตัดผ่านกล้องจุลทรรศน์ (Microscope) เพื่อตัดเอาชิ้นส่วนของหมอนรองกระดูกที่กดทับเส้นประสาทออก หรือผ่าตัดใส่สกรูยึดกระดูกสันหลังแบบเปิดแผลเล็ก อาการของผู้ป่วยก็หายได้โดยที่ผลการรักษาไม่แตกต่างกับวิธีผ่าตัดเปิดแผลใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวหลังการผ่าตัดได้เร็วขึ้นมาก และเจ็บแผลผ่าตัดเพียงเล็กน้อย ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถลุกเดินได้ในวันรุ่งขึ้นหลังการผ่าตัด แต่วิธีนี้ศัลยแพทย์ต้องมีความชำนาญในการผ่าตัดใส่สกรูยึดกระดูกสันหลังแบบดั้งเดิมร่วมกับสามารถผ่าตัดผ่านกล้องจุลทรรศน์ได้
วิธีการที่แตกต่างกันคือ แพทย์จะลงแผลผ่าตัดที่หลังห่างแนวกลางไปทางด้านข้างทั้ง 2 ข้าง แผลยาวประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร (รูปที่ ๓) แผลลงในตำแหน่งที่จะใส่สกรู จากนั้นจะถ่างกล้ามเนื้อหลังออกเพียง 2.5 เซนติเมตร ด้วยเครื่องมือพิเศษ เพื่อที่จะทำการใส่สกรู (รูปที่ ๔) โดยใช้ภาพถ่ายเอ็กซเรย์ (X-ray) ช่วยในการบอกตำแหน่งและทิศทางในการผ่าตัดใส่สกรู (รูปที่ ๕) หลังจากการใส่สกรูยึดกระดูกสันหลังแล้วแพทย์จะทำการตัดส่วนของกระดูกและหมอนรองกระดูกสันหลังที่กดทับเส้นประสาท ด้วยการผ่าตัดมองผ่านกล้องจุลทรรศน์ (Microscope)



เมื่อเทียบขนาดของความยาวแผล และขนาดของกล้ามเนื้อที่ต้องเลาะถ่างออก จะเห็นได้ว่าการผ่าตัดวิธีเปิดแผลเล็กเพื่อใส่สกรู กล้ามเนื้อได้รับความบอบช้ำจากการผ่าตัดน้อยมาก จึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บแผลผ่าตัดน้อย ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวหลังการผ่าตัดได้เร็วขึ้นมาก ผู้ป่วยเกือบทุกรายสามารถลุกขึ้นยืนหรือเดินได้ในวันรุ่งขึ้นหลังการผ่าตัด และสามารถกลับออกจากโรงพยาบาลได้ในเวลาภายใน 2-3 วันหลังการผ่าตัด
กล่าวโดยสรุป
ข้อดีของการผ่าตัดใส่สกรูแบบแผลเล็ก
- ผลการรักษาเทียบเท่าการผ่าตัดแบบมาตรฐานดั้งเดิมแต่ภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า
- กล้ามเนื้อบอบช้ำน้อยกว่า กล้ามเนื้อถูกเลาะถ่างน้อยกว่า ทำให้ปวดแผลน้อยกว่า ใช้เวลาพักฟื้นน้อยกว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถลุกเดินได้ในวันรุ่งขึ้น
- เสียเลือดจากการผ่าตัดน้อย แม้จะผ่าตัดในคนอ้วนมาก
ข้อจำกัดของการผ่าตัดใส่สกรูแบบแผลเล็ก
- การมองตำแหน่งทางกายภาพและพยาธิสภาพของโรคทำได้ยาก เพื่อความปลอดภัยจึงต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ (microscope) ในการผ่าตัดลดการกดทับเส้นประสาท หรือผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลัง แต่ต้องอาศัยแพทย์ที่เชี่ยวชาญในการใช้กล้อง microscope
- ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุนรุนแรง
- ไม่สามารถผ่าตัดผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกสันหลังคดผิดรูปรุนแรงหรือผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนมากๆ