
ประสาทศัลยแพทย์ สถาบันประสาทวิทยา

ประสาทศัลยแพทย์ สถาบันประสาทวิทยา


ลักษณะทางกายวิภาคของข้อมือจะมีเส้นประสาทมีเดียน (Median nerve) วางตัวคู่กับเอ็นนิ้วมือซึ่งมีปลอกน้ำหุ้มรอบเอ็น ทั้งเส้นประสาทและเอ็นนี้จะลอดผ่านช่องเพื่อเข้าสู่อุ้งฝ่ามือ เรียกช่องนี้ว่า carpal tunnel ช่องนี้เกิดจากกระดูกและแผ่นเนื้อเยื่อบางๆแต่มีความแข็งแรงที่ขึงระหว่างกระดูกข้อมือ (ดังรูปที่ 1) เมื่อแผ่นเนื้อเยื่อนี้หนาขึ้นจนทำให้ช่องลอดแคบลงหรือเมื่อโครงสร้างในช่องลอดขยายขึ้นจะเกิดแรงดันภายในช่องนี้มากขึ้นจนมีการกดเบียดเส้นประสาทและเส้นเลือดที่มาเลี้ยงเส้นประสาท ทำให้เกิดกลุ่มอาการของเส้นประสาทข้อมือถูกกดทับ หากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้รบกวนชีวิตประจำวัน และหากยังปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจทำให้เส้นประสาทเสียหายถาวรได้

รูปที่ 1 แสดงภาพโครงสร้างและกายวิภาคของข้อมือ
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง
เป็นโรคที่พบได้บ่อยในวัยกลางคน โดยทั่วไปมักพบว่าเพศหญิงเป็นโรคนี้ได้มากกว่าเพศชาย 3 เท่า นอกจากนี้ยังพบได้ในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหรือเหตุอื่นๆที่ทำให้ช่องลอดนี้แคบลงหรือทำให้โครงสร้างในช่องลอดขยายขึ้นจนเกิดแรงดันภายในช่องมากขึ้น เช่น ระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง (ภาวะไทรอยด์ต่ำ วัยหมดระดู การใช้ยาคุมกำเนิด) รูมาตอยด์ เบาหวาน ภาวะอ้วนมากๆ การบาดเจ็บของข้อมือและมีกระดูกงอก การสูบบุหรี่จัด (ทำให้การไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงเส้นประสาทบริเวณฝ่ามือลดลง) อาจพบได้มากขึ้นในหญิงตั้งครรภ์ช่วงที่เนื้อเยื่อมีการบวมขึ้น ซึ่งอาการจะหายไปหลังคลอด มักพบร่วมกับโรคนิ้วล็อค (Trigger finger) เนื่องจากเป็นภาวะที่เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงลักษณะเดียวกัน
จากการวิจัยทั้งในและต่างประเทศพบว่า ผู้ที่มีความเสี่ยงคือผู้ใช้งานข้อมือเป็นจุดหมุนในท่าเดิมๆซ้ำๆเป็นเวลานาน เช่น กวาดบ้าน รีดผ้า เย็บผ้า ซักผ้า บิดผ้า ทำครัวหรือหิ้วถุงในท่างอข้อมือ จับพวงมาลัยขณะขับรถ การสั่นกระแทกจากด้ามจับของเครื่องมือทำงานก่อสร้าง เป็นต้น ในปัจจุบันคนส่วนใหญ่ใช้เวลาไปกับการทำงาน การเล่นเกมหรือใช้สื่อในคอมพิวเตอร์และในโทรศัพท์ โดยไม่ได้ใส่ใจสุขภาพทำให้ข้อมืออยู่ในท่างอหรือเหยียดมากเกินขอบเขตปกติซ้ำกันเป็นเวลานาน เมื่อเวลาผ่านไปหลายปีแผ่นเนื้อเยื่อบริเวณข้อมือจะหนาขึ้นเรื่อยๆจนทำให้ช่องลอดแคบลง นอกจากนี้ในบางรายก็ไม่ได้สังเกตสัญญาณเตือนว่าเริ่มมีความผิดปกติเกิดขึ้น ทำให้เริ่มมาพบแพทย์เมื่ออาการผิดปกติรุนแรงจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันมากแล้ว
อาการและอาการแสดง
- ปวดข้อมือหรือแขน
- ชานิ้ว เป็นเหน็บ ตะคริว หรือปวดแสบปวดร้อนบริเวณฝ่ามือกับนิ้วมือ อาจรู้สึกเหมือนถูกไฟช็อตที่เป็นๆหายๆ (ดังรูปที่ 2)
- อาจปวดหรือเป็นเหน็บไปทั้งแขนร้าวถึงข้อศอกและหัวไหล่ได้
- รายที่เส้นประสาทถูกกดทับเป็นเวลานาน จะมีอาการอ่อนแรง เช่น กำมือไม่แน่น หยิบของเล็กๆลำบาก ของหลุดมือบ่อย หากยังปล่อยไว้อาจมีกล้ามเนื้อลีบที่บริเวณฝ่ามือโดยเฉพาะด้านนิ้วหัวแม่มือ
อาการของโรคนี้มักค่อยเป็นค่อยไป อาจมีอาการเป็นๆหายแล้วกำเริบบ่อยขึ้นหรือมีอาการนานขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ อาการอาจมากขึ้นระหว่างวันขณะทำงานที่ต้องเคลื่อนไหวข้อมือ หรือในช่วงกลางดึกและเช้ามืด ในช่วงแรกๆ การขยับเปลี่ยนท่าหรือสะบัดข้อมืออาจทำให้อาการทุเลาลงได้ แต่ถ้าอาการรุนแรงขึ้นจะปวดตลอดเวลาและมีอาการอ่อนแรง

รูปที่ 2 แสดงบริเวณที่เกิดอาการปวดหรือชา
การวินิจฉัย
แพทย์จะซักประวัติร่วมกับการตรวจร่างกายเพื่อแยกโรคอื่นและหาสาเหตุ อาจใช้การตรวจด้วยวิธีอื่นๆเพิ่มเติมตามดุลยพินิจของแพทย์ ดังนี้
1. การตรวจมือ
- ตรวจสอบอาการชาหรือเหน็บ โดยเคาะหรือกดบริเวณเส้นประสาทมีเดียนตรงข้อมือ หรือทำให้เส้นประสาทมีเดียนตึงมากขึ้นด้วยการดัดข้อมือ เพื่อให้อาการผิดปกติชัดเจนขึ้น
- ทดสอบความไวต่อความรู้สึกบริเวณปลายนิ้วมือ
- ตรวจกำลังของกล้ามเนื้อนิ้วมือ และการฝ่อของกล้ามเนื้อบริเวณฝ่ามือและฐานนิ้วหัวแม่มือ
2. การตรวจการนำไฟฟ้าของเส้นประสาทและ/หรือการตอบสนองของกล้ามเนื้อ (Electrodiagnosis) เป็นยืนยันการวินิจฉัย ประเมินความรุนแรง และสามารถบอกพยากรณ์โรคได้
- เมื่อแผ่นเนื้อเยื่อหนาตัวกดทับเส้นประสาทจะทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังรอบๆ เส้นประสาท สัญญาณประสาทจะช้าลงตามสัดส่วนความรุนแรงของโรค
3. การตรวจด้วยรังสีวิทยา
- X-ray เพื่อดูโครงสร้างของมือ เมื่อคิดถึงการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือจากโรคอื่นๆ เช่น ข้ออักเสบ กระดูกงอก กระดูกหัก
- อัลตราซาวด์ เพื่อดูการบีบอัดของเส้นประสาทในช่องลอด
MRI เพื่อประเมินความสัมพันธ์ของเนื้อเยื่อบริเวณข้อมือและเส้นประสาท เช่น แผลเป็นจากการบาดเจ็บ เนื้องอกหรือถุงน้ำบริเวณข้อมือ
การรักษาเบื้องต้น
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจทำให้อาการแย่ลง เช่น ใช้งานที่ต้องเกร็งข้อมือนานๆ ใช้การกระดกข้อมือขึ้น รวมถึงงานที่มีการสั่นกระแทกจนทำให้ความดันในโพรงข้อมือสูงขึ้นด้วย ร่วมกับการประคบเย็นเมื่อมือบวมเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดกับเส้นประสาทที่ข้อมือ
- การใส่เฝือกหรืออุปกรณ์ช่วยพยุงข้อมือ (wrist splint) เพื่อจัดวางให้ข้อมืออยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมตามธรรมชาติ ส่งผลให้เส้นประสาทไม่ตึงหรือไม่ถูกกดทับ และอาจช่วยให้เลือดไหลเวียนไปที่เส้นประสาทได้ดีขึ้น โดยเฉพาะในเวลาที่ผู้ป่วยนอนหลับหรือทำกิจกรรมเสี่ยงระหว่างวัน
- การทำกายภาพบำบัดข้อมือภายใต้การแนะนำวิธีของนักกายภาพบำบัด เพื่อให้เส้นประสาทเคลื่อนไหวในช่องลอดได้สะดวกขึ้น
- การรับประทานยาลดการอักเสบกลุ่ม NSAIDs เพื่อลดอาการปวด (อาจมีการระคายเคืองกระเพาะอาหารได้) จากการวิจัยในปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนเรื่องการใช้วิตามินบี 6 เพื่อช่วยบำรุงเส้นประสาท แต่โดยทั่วไปมักใช้ร่วมกับการให้ยากลุ่มอื่นขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์
- การฉีดยาเข้าไปในโพรงข้อมือเพื่อลดการอักเสบของเนื้อเยื่อรอบๆเส้นประสาท นิยมใช้ steroid ผสมยาชาเฉพาะที่เพื่อลดการอักเสบและอาการปวด ต้องระมัดระวังไม่ให้ปลายเข็มสัมผัสเส้นประสาทขณะฉีดยา บางรายอาจหายได้เป็นเวลานานหลายเดือน ได้ผลดีเฉลี่ยร้อยละ 40-50 แต่การรักษาด้วยวิธีนี้มักได้ผลเพียงชั่วคราวและไม่ควรใช้รักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะของโรค และปัจจัยอื่นๆ หากต้องการฉีดยาแนะนำให้ฉีดได้ไม่เกิน 2-3 ครั้ง
- การรักษาโรคประจำตัวอื่นๆ โดยเฉพาะโรคเบาหวานและข้ออักเสบ ควรเข้ารับการรักษาและควบคุมอาการของโรคนั้นๆให้ดี เพื่อป้องกันอาการกำเริบหรือผลข้างเคียงอื่นๆ ที่เป็นอันตราย
หากรักษาเบื้องต้น 3-6 เดือนแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ผู้ป่วยมีอาการมากขึ้น หรือในรายที่มีกล้ามเนื้อเริ่มอ่อนแรงมากและลีบลง จำเป็นต้องรับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดเพื่อคลายการกดทับ โดยการตัดแผ่นเนื้อเยื่อและพังผืดทางด้านฝ่ามือของช่องลอด เพื่อขยายปริมาตรและลดความดันภายในช่องลอด
วิธีการผ่าตัด
วิธีมาตรฐาน ได้แก่ การผ่าตัดแบบเปิด (open carpal tunnel release, Transverse retinaculotomy, รูปที่ 3) โดยแพทย์ลงแผลตั้งแต่ข้อมือถึงฝ่ามือ แผลจะยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร (รูปที่ 4, 5) แล้วแต่การประเมินและความถนัดของแพทย์ เพื่อตัดเปิดแผ่นเนื้อเยื่อให้เห็นเส้นประสาทได้โดยตรงตลอดแนว และสามารถทำผ่าตัดอื่นร่วมด้วยได้ เช่น การตัดเยื่อหุ้มเอ็นออก การเลาะพังผืดที่รัดรอบเส้นประสาท การผ่าตัดทำในห้องผ่าตัดโดยระงับความรู้สึกได้ทั้งวิธีการวางยาสลบ ฉีดยาที่เส้นประสาทบริเวณคอ-รักแร้ หรือฉีดยาชาระงับปวดเฉพาะที่ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมที่สุดในปัจจุบัน เนื่องจากค่อนข้างปลอดภัยและประเมินอาการผู้ป่วยได้ตลอด ส่วนใหญ่อาการผู้ป่วยจะดีขึ้นโดยเฉพาะเรื่องปวด แต่อาจหลงเหลืออาการชาและอ่อนแรงได้ในรายที่มีอาการเรื้อรังนานๆก่อนผ่าตัด
วิธีทางเลือกคือ การผ่าตัดโดยใช้กล้องสอดเข้าบริเวณข้อมือเพื่อตัดขยายแผ่นเนื้อเยื่อ บาดแผลจะยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร แต่จากการศึกษาพบว่าผลลัพธ์ของการผ่าตัดไม่แตกต่างกัน และมีข้อเสียคือมีโอกาสตัดแผ่นเนื้อเยื่อได้ไม่หมด และพบรายงานการบาดเจ็บของเส้นประสาทได้บ่อยกว่าวิธีมาตรฐาน
ผู้ป่วยส่วนน้อยอาจมีอาการเจ็บรอยแผลผ่าตัดได้จนถึงภายหลังการผ่าตัดนาน 2-3 เดือน เกิดจากการอักเสบของเนื้อเยื่ออ่อน

รูปที่ 3 แสดงการผ่าตัดแบบเปิด

การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด
- ช่วง 2-3 วันแรกผู้ป่วยควรยกมือขึ้นให้อยู่เหนือระดับหัวใจ ใช้หมอนรองใต้แขนและข้อมือข้างที่ผ่าตัดเวลานอน เพื่อช่วยลดการบวม
- ขยับมือเพื่อลดอาการบวมและตึง อาจใส่เฝือกหรืออุปกรณ์พยุงข้อมือ
- ห้ามแผลโดนน้ำ หากผ้าพันแผลเปียก เลอะ หรือหลุด ต้องทำแผลใหม่ทันที
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น หลีกเลี่ยงการขับรถ ไม่หยิบจับสิ่งของที่ต้องบีบหรือกำแน่นๆ ไม่ยกของหนัก เพื่อช่วยให้การรักษาได้ผลดียิ่งขึ้นจนกว่าจะหายเป็นปกติ ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน
- อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจใช้เวลานานกว่า 6-12 เดือนในการฟื้นตัว ระหว่างนี้ต้องใช้ยาช่วยบรรเทาอาการร่วมกับการทำกายภาพบำบัดต่อเนื่อง
การป้องกัน
- เลี่ยงการใช้ข้อมือนานๆโดยเฉพาะในท่างอหรือบิดข้อมือ กรณีจำเป็นต้องใช้งานท่าเดิมๆควรสลับมือข้างที่ทำงาน (ถ้าทำได้) หรือหยุดพักข้อมือเป็นระยะๆ
- พยายามให้ข้อมืออยู่ในท่าตรงเวลาใช้งาน เช่น เมื่อพิมพ์งานให้มืออยู่สูงกว่าข้อมือเล็กน้อย ปล่อยมือตามสบายเมื่อวางแขนข้างลำตัว
- ถ้าต้องกำอุปกรณ์ที่มีการสั่นสะเทือนขณะทำงาน เช่น สว่าน ควรหยุดพักทุก 15-20 นาที
- รักษาความอบอุ่นของข้อมือในรายที่ต้องทำงานเกี่ยวกับความเย็น
- บริหารนิ้วมือและข้อมือเพื่อเสริมความแข็งแรงและความยืดหยุ่น
- ดูแลสุขภาพทั่วไป เช่น รักษาน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ งดสูบบุหรี่ และรักษาโรคเรื้อรัง (เบาหวาน ข้ออักเสบ)
สวัสดีค่ะ ปวด มือทั้งสองข้างและชานานมากขึ้นทุกทีค่ะ ไม่ใช่เฉพาะตอนกลางคืน กลางวันก้อเป็นค่ะ
LikeLike
อาการชามือ/ปวดมือ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุครับ ทางทีม admin แนะนำให้ผู้ป่วยปรึกษาแพทย์ เพื่อการวินิจฉัย และรักษาต่อเนื่องครับ
LikeLike