งานกายอุปกรณ์ กลุ่มงานเวชศาสตร์ฟื้นฟู
สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์
โทร. 02-306-9899 ต่อ 3173

เฝือกพยุงคอ

เป็นกายอุปกรณ์เสริมที่ใช้คาดบริเวณลำคอ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมกล้ามเนื้อและจำกัดการเคลื่อนไหวของกระดูกช่วงคอ
เหมาะกับ ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อบริเวณคอ และ ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทที่ไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณคอได้
หลักการทำงาน
- เพื่อประคองและป้องกันช่วงลำคอให้มีการเคลื่อนไหวที่น้อยลง
- ช่วยเตือนผู้ใส่ไม่ให้เกิดการเคลื่อนไหว โดยการป้อนกลับของประสาทสัมผัส (sensory feedback)
- ช่วยรองรับและพยุงน้ำหนักของส่วนศีรษะแทนส่วนลำคอและกระดูกคอ
การทำความสะอาด
ควรซักทำความสะอาดด้วยน้ำสบู่หรือผงซักฟอก ล้างด้วยน้ำสะอาดและนำไปตากในที่ร่มให้แห้งสนิท ไม่ควรใส่ทั้งที่อุปกรณ์ยังเปียกหรือชื้นอยู่ เพราะจะให้เกิดการสะสมของแบคทีเรียได้
1. เฝือกพยุงคอชนิดอ่อน (Soft Collar)
ใช้เป็นเครื่องเตือนและประคอง เพื่อลดการเคลื่อนที่ของส่วนคอให้น้อยลง มีส่วนช่วยในการลดการเกร็งและบรรเทาอาการปวดต้นคอเพื่อเลี่ยงอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อที่ไม่ใช่กระดูก


วิธีการใส่อุปกรณ์
- นำเฝือกทาบที่ลำคอโดยให้ตีนตุ๊กแกอยู่ด้านหลัง และส่วนที่เว้าทาบด้านหน้าเพื่อรองรับคาง
- จัดเฝือกให้กระชับลำคอและติดตีนตุ๊กแกให้กระชับ
2. เฝือกคอฟิลาเดเฟีย (Philadelphia Collar)
ใช้เพื่อจำกัดและป้องกันการเคลื่อนที่ของส่วนคอ เหมาะสำหรับผู้มีปัญหาในส่วนของกระดูกคอเช่น อาการปวดหรือบาดเจ็บที่เกิดจากภาวะกระดูกส่วนคอเสื่อม กระดูกส่วนคอเคลื่อน เป็นต้น


วิธีการใส่อุปกรณ์
1. นำเฝือกชิ้นส่วนหลังทาบที่ลำคอด้านหลังให้พอดี
2. นำชิ้นส่วนหน้า(ชิ้นที่มีรู)มาทาบรองรับส่วนคาง โดยให้คางวางอยู่บนร่องภายในตัวเฝือกชิ้นหน้า
3. ประกบชิ้นหน้าทับชิ้นหลัง ติดตีนตุ๊กแกให้พอดีดังรูป
ข้อแนะนำการใช้
- การใช้เฝือกคอเป็นประจำหรือเป็นเวลานาน อาจทำให้ติดเป็นนิสัย และทำให้กล้ามเนื้อคออ่อนแอลง จากการไม่ได้ใช้งาน
- ระวังไม่ให้ใส่เฝือกคอแน่นจนเกินไปเพราะอาจไปบีบรัดหลอดเลือดบริเวณลำคอซึ่งเป็นหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนสมองได้
- ควรบริหารกล้ามเนื้อรอบคอให้แข็งแรงควบคู่กับการใส่เฝือกคอเป็นประจำ
- ข้อบ่งชี้การใช้และระยะเวลาในการใส่อุปกรณ์ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์และอาการผู้ป่วย
ท่าบริหารเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง


เริ่มจากยืนหรือนั่งคอตรง ใช้ฝ่ามือออกแรงดันศีรษะไปด้านตรงข้ามและเกร็งคอต้านไว้ดังรูป ให้ทำช้าๆค้างไว้ท่าละประมาณ 5-10 วินาที ทำสลับกัน 5-10 ครั้ง
ข้อสำคัญ ขณะบริหารต้องตั้งคอให้ตรงเสมอ ห้ามเคลื่อนที่
วิธีเลือกใช้ขนาดเฝือกพยุงคอที่เหมาะสม
- ความสูงของเฝือก (แดง) วัดจากคางลงถึงรอยเว้าด้านบนของกระดูกสันอก
- ขนาดของเฝือก (เขียว) วัดจากความยาวรอบคอของลำคอ

โดยมาตรฐานแล้ว ขนาดของเฝือกพยุงคอต่างๆ สำหรับคนเอเชีย ที่จัดจำหน่ายในประเทศ มีดังนี้
ขนาด | ขนาดวัดรอบคอ (ซม.) |
S | 38 – 41 |
M | 41 – 45 |
L | 45 – 52 |