ภาวะกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (Piriformis Syndrome)

นพ. เอกพจน์ จิตพันธ์

ประสาทศัลยแพทย์ สถาบันประสาทวิทยา

Piriformis syndrome หรือ ภาวะกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท หรือโรคที่คนทั่วไปคุ้นชินว่า “สลักเพชร” เป็นภาวะที่พบได้บ่อย แต่ก็มักจะเป็นโรคที่วินิจฉัยแยกโรคได้ยากพอสมควร เนื่องจากอาการมักจะทับซ้อนกับอาการของโรคระบบประสาทอื่นๆ เช่น ภาวะหมอนรองกระดูกหลังเสื่อมทับเส้นประสาท (herniated nucleus pulposus with radiculopathy), ภาวะข้อสะโพกอักเสบ (sacroiliac joint pain), หรือการเจ็บปวดจากความผิดปกติของเส้นประสาทที่มาเลี้ยงผิวหนังบริเวณก้น (cluneal neuropathy) เป็นต้น

อาการของ piriformis syndrome

  • อาการที่พบได้บ่อยที่สุดของ piriformis syndrome คือ อาการปวดก้น โดยอาจจะพบร่วมกับอาการปวดร้าวลงขา (sciatica) หรืออาจจะไม่พบอาการปวดร้าวลงขาร่วมด้วยก็ได้
  • อาการปวดร้าวลงขาที่พบร่วมด้วย จะเป็นไปตามการเลี้ยงของเส้นประสาท sciatic จะพบอาการปวดร้าวได้ทั้งบริเวณต้นขาด้านหลัง ส่วนหน้าแข้ง น่อง หลังเท้า และฝ่าเท้า แต่จะไม่พบอาการปวดร้าวมาที่ต้นขาด้านหน้า
  • อาการปวดก้นมักจะถูกกระตุ้นให้เป็นมากขึ้นเมื่อผู้ป่วยอยู่ในท่านั่ง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องนั่งในระยะเวลานาน บนพื้นผิวที่แข็ง
  • กิจกรรมอื่นๆ ที่ทำให้กล้ามเนื้อ piriformis มีการทำงานมากขึ้น เช่น การขึ้นบันได หรือการนั่งไขว่ห้าง ก็ทำให้มีอาการปวดก้น หรือปวดร้าวลงขามากขึ้นได้เช่นกัน
  • อาจมีอาการชา หรืออ่อนแรงของขาร่วมด้วยในผู้ป่วยบางราย
  • ผู้ป่วยบางรายมีการเดินที่ผิดปกติได้ ซึ่งมักเกิดจากอาการปวด หรืออาการอ่อนแรง

💡 ปวดก้น หรือปวดร้าวลงขา ไม่ได้เกิดจากหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทเสมอไป!

Piriformis syndrome เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

Piriformis คือชื่อของกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อส่วนลึกบริเวณก้น กล้ามเนื้อดังกล่าวจะยึดระหว่างกระดูกและเอ็นบริเวณกระดูกก้นกบ (pelvic surface of sacrum and sacrotuberous ligament) กับส่วนต้นของกระดูกต้นขา (greater trochanter of femur) กล้ามเนื้อนี้มีหน้าที่เป็นตัวหมุนข้อต่อบริเวณสะโพก

ภาพประกอบจาก Cleveland Clinic Foundation, clevelandclinic.org

กล้ามเนื้อ piriformis จะเป็นกล้ามเนื้อที่หนีบเส้นประสาท sciatic nerve ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่เลี้ยงความรู้สึก และกล้ามเนื้อของขาและเท้า

เมื่อกล้ามเนื้อนี้มีการหดเกร็ง หรือมีการบาดเจ็บเกิดขึ้น จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดก้น ซึ่งเป็นอาการปวดเฉพาะที่ และส่งผลให้มีการกดทับ หรือการระคายเคืองของเส้นประสาท sciatic ที่อยู่ด้านลึกต่อกล้ามเนื้อ ทำให้มีอาการปวดร้าวลงขาและเท้าได้

การตรวจวินิจฉัย ต้องทำอะไรบ้าง ?

โดยทั่วไปแล้ว piriformis อาศัยการวินิจฉัยทางคลินิก ได้แก่การซักประวัติ และการตรวจร่างกายเป็นสำคัญ แพทย์จำเป็นต้องสอบถามประวัติของอาการปวดหลัง ตรวจร่างกายบริเวณ หลัง ก้น และข้อสะโพก รวมถึงตรวจร่างกายในท่าที่กล้ามเนื้อ piriformis มีการยืดของกล้ามเนื้อ (provocative test) เพื่อช่วยในการวินิจฉัย

ในผู้ป่วยรายที่อาการไม่ชัดเจน หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษา แพทย์อาจต้องส่งตรวจการวินิจฉัยเพิ่มเติม เช่น

  • การทำ film และ MRI กระดูกหลัง เนื่องจากอาการของ piriformis syndrome มีอาการปวดร้าวลงขาใกล้เคียงกับอาการของโรคที่เกิดจากเส้นประสาทที่มีต้นกำเนิดมาจากกระดูกหลัง (radiculopathy) เช่นภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อมกดทับเส้นประสาท กระดูกเคลื่อน หรือโรคอื่นๆของกระดูกสันหลัง ซึ่งทำให้แยกได้ยากจากภาวะ piriformis syndrome
    • 💡 ผู้ป่วยที่มี lumbar radiculopathy มักมีอาการปวดหลังร่วมด้วย
    • 💡 ผู้ป่วยบางราย พบว่ามีอาการร่วมกันของทั้ง lumbar radiculopathy และ piriformis syndrome ได้ เราเรียกการที่มีอาการทั้งสอง condition นี้ว่า double crush syndrome
  • การตรวจการนำไฟฟ้าของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ (electrodiagnostic test) ซึ่งอาจช่วยแยกโรคที่เกิดจากเส้นประสาทบริเวณหลัง และเส้นประสาท sciatic nerve ที่อยู่บริเวณก้นออกจากกันได้
  • การทำ MRI pelvis หรือการทำ MRI บริเวณเชิงกราน เพื่อประเมินพยาธิสภาพของกล้ามเนื้อ piriformis และเส้นประสาท sciatic โดยตรง
    • โดยทั่วไปแพทย์มักจะไม่ได้ส่งตรวจ MRI pelvis ในช่วงแรกของการรักษา มักส่งตรวจในรายที่ได้รับการรักษาโดยวิธีการกินยา กายภาพบำบัดมาช่วงหนึ่ง แล้วไม่ตอบสนองต่อการรักษาส่วนใหญ่เรามักจะเจอว่ากล้ามเนื้อ piriformis มีการหนาตัวขึ้นการทำ MRI pelvis อาจทำให้เจอโรคอย่างอื่นที่ไม่คาดคิด เช่น เนื้องอกของเส้นประสาท sciatic ซึ่งทำให้มีอาการเหมือน piriformis syndrome ได้
  • การทำ diagnostic block เป็นการฉีดยาบางชนิด เช่นยาชา, ยาชาผสมสเตียรอยด์, หรือโบทอกซ์ เข้าสู่กล้ามเนื้อ piriformis เพื่อประเมินว่าช่วยลดการปวดที่ผู้ป่วยมีอยู่หรือไม่
MRI ของผู้ป่วยที่มีอาการของ left piriformis syndrome พบกล้ามเนื้อ piriformis ด้านซ้าย (ดอกจัน) ที่หนาตัวขึ้นมากกว่ากล้ามเนื้อ piriformis ด้านขวา (ลูกศร)

แล้วจะรักษาได้อย่างไร ?

  1. การกายภาพบำบัด เนื่องจากสาเหตุหลักของ piriformis syndrome เป็นโรคของกล้ามเนื้อ จึงแนะนำให้ใช้การกายภาพบำบัดเป็นการรักษาวิธีแรก โดยการกายภาพจะแนะนำเป็นการยืดเหยียดกล้ามเนื้อส่วนก้น (stretching exercise) ปัจจุบันมีสื่อมากมายที่นำเสนอเกี่ยวกับวิธีการทำกายภาพ ซึ่งง่ายต่อการศึกษาได้ด้วยตนเอง
  2. การรักษาด้วยยา ไม่ว่าจะเป็นการให้ยาแก้ปวดกลุ่ม NSIADs, ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยาลดอาการปวดเส้นประสาท เช่น gabapentin, pregabalin
  3. การฉีดยาเฉพาะที่ (piriformis injections) โดยใช้ยาชา, ยาชาผสมสเตียรอยด์, หรือโบทอกซ์ เข้าสู่กล้ามเนื้อ piriformis ซึ่งนอกจากใช้ในการวินิจฉัยแล้ว ยังให้ผลด้านการรักษาอาการปวดด้วย 💡 เนื่องจากการฉีดยาเฉพาะที่ มีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การฉีดยาชาใกล้เส้นประสาทเกินไป ทำให้เกิดอาการชาหรืออ่อนแรงชั่วคราว, การฉีดยาเข้าไปภายในเส้นประสาท ทำให้เส้นประสาทบาดเจ็บถาวรได้ และอาจเกิดผลข้างเคียงอื่นๆ เช่นการแพ้ยา, อาการปวดที่อาจเกิดมากขึ้นหลังยาชาหมดฤทธิ์ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษา ก่อนการฉีดยาบริเวณนี้เสมอ
  4. การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่นการใช้ pulsed radiofrequency ablation, การใช้ shock wave ซึ่งปัจจุบันยังมีการทดลองทางคลินิกที่ค่อนข้างน้อย
  5. การผ่าตัด โดยเป็นการผ่าตัดเพื่อสลายพังผืด และลดการกดทับของกล้ามเนื้อที่มีต่อเส้นประสาท จะแนะนำเป็นการรักษาวิธีสุดท้าย หากรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: