การฉีดซีเมนต์ยึดกระดูกสันหลังเป็นการรักษาภาวะกระดูกสันหลังแตกยุบ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากภาวะกระดูกพรุนและมีภาวะกระดูกทรุด หรืออาจเกิดจากอุบัติเหตุ วิธีดังกล่าวจะช่วยลดอาการปวด และเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกสันหลังที่แตกหักหรือยุบ
โดยปกติแล้ว การรักษาโรคกระดูกสันหลังแตกยุบ จะเริ่มจากการรักษาโดยการนอนพัก ร่วมกับการกินหรือฉีดยาแก้ปวด (Conservative treatment) เป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ กระดูกสันหลังที่แตกสามารถเชื่อมติดได้เองภายในเวลา 2-3 เดือน เมื่อกระดูกติดดีแล้วผู้ป่วยจึงจะหายปวด แต่กรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะเส้นประสาทหรือไขสันหลังถูกกดเบียดจากชิ้นกระดูกที่แตกหัก กระดูกสันหลังเคลื่อน หรือกระดูกแตกยุบจากเนื้องอกกระดูกสันหลัง ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดกระดูกสันหลังเพื่อแก้ไขการถูกกดเบียด
สำหรับผู้ป่วยที่รักษาแบบไม่ผ่าตัดเป็นระยะเวลาหลายวันแล้วยังไม่หาย ยังปวดจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน กระดูกสันหลังที่แตกยังไม่มีการเชื่อมติดเมื่อเวลาผ่านไปหลายสัปดาห์ หรือมีภาวะกระดูกสันหลังยุบเพิ่มมากขึ้นอีก ควรได้รับการรักษาโดยการฉีดซีเมนต์ยึดกระดูกสันหลัง เพื่อเสริมความแข็งแรงกระดูกและยึดเชื่อมกระดูกสันหลังที่แตก
วิธีการฉีดซีเมนต์ยึดกระดูกสันหลัง สามารถทำได้ทั้งโดยการให้ยาระงับปวดด้วยวิธีฉีดยาชาเฉพาะที่ซึ่งไม่ต้องวางยาสลบ (Local anesthesia) หรืออาจโดยการวางยาสลบ (General anesthesia) ซึ่งการเลือกวิธีการดังกล่าวขึ้นอยู่กับสภาพของผู้ป่วย ว่าจำเป็นต้องได้รับการฉีดซีเมนต์เป็นปริมาณเท่าใด และผู้ป่วยสามารถทนการนอนคว่ำได้นานเท่าใด

ในการฉีดซีเมนต์ยึดกระดูกสันหลัง (Vertebroplasty) ผู้ป่วยจะอยู่ในท่านอนคว่ำ บนเตียงผ่าตัด จากนั้นจึงเริ่มลงมีดในตำแหน่งที่จะปักเข็มประมาณ 2-3 มิลลิเมตร เมื่อปักเข็มเข้าไปในกระดูกสันหลังและยืนยันตำแหน่งโดยใช้เครื่องถ่ายรังสีเอ็กซ์ (X-ray/Fluoroscope) จะทำการฉีดสารทึบแสงทางเอ็กซเรย์เพื่อดูตำแหน่งที่จะฉีดซีเมนต์ว่าปลอดภัยหรือไม่ มีโอกาสที่ซีเมนต์จะรั่วออกมากดไขสันหลังหรือไม่ เมื่อมั่นใจว่าได้ตำแหน่งที่เหมาะสมแล้ว จะทำการฉีดซีเมนต์เข้าไปในกระดูกสันหลังเพื่อยึดกระดูกสันหลังที่แตก
ในขณะที่ฉีดซีเมนต์เข้ากระดูกสันหลัง แพทย์จะเห็นภาพในจอรับภาพของเครื่องถ่ายรังสีเอ็กซ์อยู่ตลอดเวลา หลังจากฉีดซีเมนต์แล้วจะให้ผู้ป่วยนอนหงายประมาณ 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้ซีเมนต์แข็งตัว หลังจากนั้นผู้ป่วยจึงสามารถลุกนั่งหรือยืนได้

การฉีดซีเมนต์ยึดกระดูกสันหลังวิธีนี้ สามารถรักษาอาการปวดหลัง จากภาวะกระดูกสันหลังแตกยุบได้ แต่ไม่สามารถถ่างขยายกระดูกสันหลังที่แตกยุบ ให้คืนสู่ขนาดใกล้เคียงปกติ ทำให้บริเวณที่ยุบมีการโก่งเอียงจนแนวหลังผิดปกติถาวรได้(Kyphosis) จึงมีอีกทางเลือก คือ การฉีดซีเมนต์ยึดกระดูกสันหลัง ด้วยการยกถ่างกระดูกสันหลังที่แตกยุบด้วยบอลลูน(Balloon Kyphoplasty) วิธีนี้ สามารถยกความสูงของกระดูกสันหลังที่แตกยุบให้สูงขึ้นในระดับที่ใกล้เคียงกับระดับปกติ โดยใช้บอลลูนขยายหรือเครื่องมือช่วยถ่างขยายใส่เข้าไปภายในกระดูกสันหลังที่แตกยุบ ผ่านเข็มที่ใช้ฉีดซีเมนต์ แล้วจึงฉีดซีเมนต์ยึดกระดูกสันหลัง
การฉีดซีเมนต์ยึดกระดูกสันหลังด้วยวิธีใช้บอลลูนนี้ สามารถรักษาอาการปวดหลังได้
นอกจากนี้จะช่วยยกส่วนที่แตกยุบของกระดูกสันหลังให้คืนสู่ขนาดใกล้เคียงปกติ และยังทำให้ฉีดซีเมนต์ได้ปริมาณมากกว่าวิธีไม่ใช้บอลลูน (Vertebroplasty) โดยที่การรั่วของซีเมนต์น้อยกว่า ทำให้กระดูกสันหลังที่แตกยุบแข็งแรงมากกว่า และอาจแก้ไขภาวะกระดูกสันหลังโก่ง (Kyphosis) ในระดับที่มีกระดูกสันหลังแตกยุบได้
แต่การฉีดซีเมนต์ด้วยวิธีนี้ แพทย์ที่ทำการรักษาต้องมีความชำนาญในการฉีดซีเมนต์ และใช้เครื่องเอ็กซเรย์ในห้องผ่าตัดได้เป็นอย่างดี เพราะหากแพทย์ไม่มีความชำนาญเพียงพอ ขณะทำการฉีดอาจเกิดการรั่วไหลของซีเมนต์ออกจากกระดูกสันหลัง ซึ่งอาจกดเบียดไขสันหลังหรือเส้นประสาทได้

(Balloon Kyphoplasty)

กล่าวโดยสรุปคือ การฉีดซีเมนต์ยึดกระดูกสันหลังเป็นวิธีการรักษาภาวะกระดูกสันหลังแตกยุบที่ได้ผลดี เจ็บแผลผ่าตัดน้อยมาก ผู้ป่วยหายปวดหลังได้เร็วและสามารถฟื้นตัวกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติในระยะเวลาสั้น นอกจากนี้ยังป้องกันภาวะกระดูกสันหลังโก่งค่อมที่อาจตามมาหลังจากรักษากระดูกสันหลังที่แตกยุบด้วยวิธีไม่ผ่าตัดและรอให้กระดูกติดเอง
ตัวอย่างผู้ป่วยที่ได้รับการฉีดซีเมนต์ด้วยวิธียกถ่างกระดูกสันหลังที่แตกยุบด้วยบอลลูน

ทั้ง 2 ข้างก่อนฉีดซีเมนต์

ภาพเอ๊กซเรย์จากจอมอนิเตอร์ในห้องผ่าตัด แสดงภาพขณะฉีดซีเมนต์ โดยการยกถ่างกระดูกสันหลังด้วยการใช้บอลลูน (Balloon Kyphoplasty)

